Tuesday 8 September 2009

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา

เนื้อหาบทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา
1.1 ความหมายของศาสนา

1.1.1 ความหมายตามรูปศัพท์เดิม
1.1.2 ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ
1.1.3 ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
1.1.4 ในทรรศนะของพระยาอนุมานราชธน
1.1.5 ในทรรศนะของหลวงวิจิตรวาทการ
1.1.6 ในทรรศนะของ Emile Durkheim
1.1.7 ในทรรศนะของ A.C. Bouget
1.2 ลักษณะของศาสนา
1.3 องค์ประกอบของศาสนา
1.4 วิวัฒนาการของศาสนา
1.5 มูลเหตุการเกิดของศาสนา
1.6 ประเภทของศาสนา
1.7 ความสำคัญของศาสนา
1.8 คุณค่าทางศาสนา
1.9 ประโยชน์ของศาสนา
แนวคิด

1. มีการให้นิยามความหมายของศาสนาจากทรรศนะต่างๆ สรุปได้ว่า �ศาสนา� คือ คำสอนที่ศาสดานำมาเผยแผ่สั่งสอน แจกแจง แสดงให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่ว กระทำแต่ความดี เพื่อประสบสันติสุขในชีวิตทั้งในระดับธรรมดาสามัญและความสุขสงบนิรันดร ซึ่งมนุษย์ยึดถือปฏิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพเลื่อมใสและศรัทธา และจะต้องมีพีธีกรรม มีสัญลักษณ์อันเป็นเครื่องหมายทางศาสนา และคำสอนในศาสนามีทั้งระดับโลกิยะและระดับโลกุตระ
2. มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนานั้น เกิดจากอวิชชา ความกลัว ความภักดี ความต้องการความรู้แจ้งความจริงของชีวิตและความต้องการความสงบสุขของสังคม และด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ จึงทำให้เกิดศาสนาหลายรูปแบบ
3. เมื่อมนุษย์ได้นำหลักศาสนาไปประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนอย่างสม่ำเสมอ แล้วย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อบุคคลผู้นั้น และยังช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขอีกด้วย

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ลักษณะ และองค์ประกอบของศาสนาได้อย่างถูกต้อง
2. เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงวิวัฒนาการในยุคต่างๆ ของศาสนา และมูลเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดศาสนา รวมทั้งการจัดแบ่งประเภทของศาสนาได้อย่างถูกต้อง
3. เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงความสำคัญ คุณค่า และประโยชน์ของศาสนาที่มีต่อมวลมนุษยชาติได้อย่างถูกต้อง
เกริ่นนำและ บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา

อาจจะกล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ไม่มียุคสมัยใดและไม่มีเผ่าใดเลย ที่ไม่นับถือศาสนา ซึ่งในสังคมปัจจุบันนี้มีประเทศต่างๆ ในโลกมากกว่า 190 ประเทศ และมีประชากรมากกว่า 6,000 ล้านคน ต่างก็นับถือศาสนาด้วยกันแทบทั้งสิ้น ศาสนาจึงมีอิทธิพลและแพร่หลายไปทั่วในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่สังคม ปฐมภูมิเก่าแก่ที่สุดจนถึงยุคปัจจุบัน ศาสนาจึงเป็นคำที่มนุษย์คุ้นเคยได้ยินมานานและมีความหมายมากที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด อีกทั้งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากที่สุดด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงภูมิหลัง ของศาสนาต่างๆ ที่มีมนุษย์นับถือกันอยู่ทั่วโลก
1.1 ความหมายของศาสนา
คำว่า �ศาสนา� นักปราชญ์ได้นิยามความหมายของศาสนาไว้แตกต่างกันอยู่มาก จึงขอนำเสนอความหมายที่ควรทราบ ดังนี้

1.1.1 ความหมายตามรูปศัพท์เดิม1 ในภาษาสันสกฤต คือ ศาสนํ และตรงกับในภาษาบาลีว่า สาสนํ แปลว่า คำสั่งสอน คำสอน หรือการปกครอง ซึ่งมีความหมายเป็นลำดับ ได้แก่

1) คำสั่งสอน แยกได้เป็น คำสั่ง หมายถึง ข้อห้ามทำความชั่ว เรียกว่า ศีล หรือ วินัย คำสอน หมายถึง คำแนะนำให้ทำความดี ที่เรียกว่า ธรรม เมื่อรวมคำสั่งและคำสอน จึงหมายถึง ศีลธรรม หรือศีลกับธรรม นั่นคือมีทั้งข้อห้ามทำความชั่ว และแนะนำให้ทำความดี ซึ่งคำสั่งสอน ต้องมีองค์ประกอบ คือ

1. กล่าวถึงความเชื่อในอำนาจของสิ่งที่มิอาจมองเห็นได้ด้วยตา เช่น

ก. ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ เชื่อในอำนาจแห่งพระเจ้า

ข. ศาสนาพุทธ เชื่ออำนาจแห่งกรรม

ค. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่ออำนาจแห่งเทพเจ้า

2. มีหลักศีลธรรม เช่น สอนให้ละความชั่ว สร้างความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นต้น

3. มีจุดหมายสูงสุดในชีวิต เช่น นิพพานในศาสนาพุทธ ชีวิตนิรันดรในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม

4. มีพิธีกรรม เช่น

ก. พิธีบรรพชาและพิธีอุปสมบท ในศาสนาพุทธ

ข. พิธีรับศีลล้างบาป ศีลมหาสนิทและศีลพลัง ในศาสนาคริสต์

ค. พิธีละหมาด พิธีเคารพพระเจ้า ในศาสนาอิสลาม

5. มีความเข้มงวดกวดขันในเรื่องความจงรักภักดี

2) การปกครอง หมายถึง การปกครองจิตใจของตนเอง ควบคุมดูแลตนเอง กล่าวตักเตือนตนเองอยู่เสมอ และรับผิดชอบการกระทำทุกอย่างของตน บุคคลผู้สามารถปกครองจิตใจของตนได้ ย่อมจะไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

1.1.2 ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ1 คือ Religion มาจากภาษาละตินว่า Religare มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า To bind fast (ยึดถือ/ผูกพันอย่างแน่นแฟ้น) กล่าวคือ ผูกพันอย่างเหนียวแน่นต่อพระผู้เป็นเจ้า(God) หรือพระผู้สร้าง(Creator) และอีกศัพท์หนึ่งว่า Relegere แปลว่า การปฏิบัติต่อ หรือการเกี่ยวข้องด้วยความระมัดระวัง เป็นการปฏิบัติตนเพื่อแสดงความเลื่อมใสหรือเกรงกลัวอำนาจเหนือตน ซึ่งในความหมายของ ชาวตะวันตก2 ตลอดทั้งผู้นับถือศาสนาประเภทเทวนิยม จะเข้าใจศาสนาในลักษณะที่ว่า

1. มีความเชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สร้างสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

2. มีความเชื่อว่า หลักคำสั่งสอนต่างๆ มาจากพระเจ้า ทั้งศีลธรรมจรรยาและกฎหมายในสังคมเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกำหนดขึ้น

3. มีหลักความเชื่อบางอย่างเป็นอจินไตย คือ เชื่อไปตามคำสอนโดยไม่คำนึงถึง ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่อาศัยเทวานุภาพของเทพเจ้า ผู้อยู่เหนือตนเป็นเกณฑ์

4. มีหลักการมอบตน คือมอบการกระทำของตนและอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับตนให้พระเจ้าด้วยความจงรักภักดี

ส่วนคำว่า �ศาสนา� ตามความหมายของชาวตะวันออก1 โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธ หมายถึง คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ คำสั่ง คือ วินัย คำสอน คือ ธรรมะ รวมเรียกว่า ธรรมวินัย ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับคำว่า �Religion� ของทางสังคมตะวันตก คือ

1. ไม่มีหลักความเชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก แต่มีหลักความเชื่อว่า กรรมเป็น ผู้สร้างโลกและสร้างสรรพสิ่ง (กมฺมุนา วตฺตตี โลโก - สัตวโลกย่อมเป็นไปตามกรรม)

2. ไม่มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่างๆ มาจากพระเจ้า แต่มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่างๆ ผู้รู้ คือ พุทธ เป็นผู้สั่งสอน (สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺต ปริโย-ทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ - การไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำใจให้ผ่องแผ้ว นี่คือคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

3. ไม่มีหลักความเชื่อไปตามคำสอน โดยไม่คำนึงถึงข้อพิสูจน์ แต่มีหลักให้พิสูจน์คำสอนนั้น (สนฺทิฏฺ�ิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ - อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตัวเอง ไม่จำกัดด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน)

4. ไม่มีหลักการยอมมอบตนให้แก่พระเจ้า แต่มีหลักการมอบตนให้แก่ตนเอง (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ - ตนแล เป็นที่พึ่งของตน)

ตามที่ได้กล่าวมานี้ พอแสดงให้เห็นได้ว่า ศาสนา ตามความหมายของทางตะวันออก โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธ กับคำว่า Religion ตามความหมายของทางตะวันตก ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของศาสนาในแต่ละประเภท ศาสนาตามความหมายของทางตะวันออก โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธนั้น มีจุดยืนตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล รวมทั้งเป็นเรื่องของมนุษย์กับธรรมชาติโดยตรง ส่วนศาสนาของทางตะวันตก มีจุดยืนอยู่ที่ศรัทธาหรือความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ ซึ่งเหตุผลต่างๆ ย่อมถูกนำมาสนับสนุนความเชื่อต่างๆ โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์

1.1.3 ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 25422 ศาสนา คือ ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์ อันมีหลักคือ แสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิที่จะกระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอน ในความเชื่อถือนั้นๆ

1.1.4 ในทรรศนะของพระยาอนุมานราชธน1 ให้ความหมายว่า ศาสนา คือ ความเชื่อซึ่งแสดงออกมาให้ปรากฏเห็นเป็นกิริยาอาการของผู้เลื่อมใส ว่ามีความเคารพเกรงกลัว ซึ่งอำนาจอันอยู่เหนือโลกหรือพระเจ้า ซึ่งบอกให้ผู้เชื่อรู้ได้ด้วยปัญญา ความรู้สึกเกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณ ว่าต้องมีอยู่เป็นรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งและต้องเป็นผู้สร้าง และเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ให้มีอยู่ เป็นอยู่ กล่าวกันง่ายๆ ศาสนา คือ การบูชาพระเจ้า ผู้ซึ่งมีทิพยอำนาจ อยู่เหนือธรรมชาติด้วยความเคารพกลัวเกรง

1.1.5 ในทรรศนะของหลวงวิจิตรวาทการ2 ให้ความหมายว่า ศาสนาเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางจรรยา มีศาสดา มีคณะบุคคลที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนไว้ เช่น พระหรือนักบวช และมีการกวดขันเรื่องความจงรักภักดี

1.1.6 ในทรรศนะของ Emile Durkheim3 ให้ความหมายว่า ศาสนา คือ ระบบรวม ว่าด้วยความเชื่อและการปฏิบัติเพื่อความสัมพันธ์ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์

1.1.7 ในทรรศนะของ A.C Bouget4 ให้ความหมายว่า ศาสนา หมายถึง ความสัมพันธ์ อันแนบแน่นระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ สิ่งที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองหรือพระเจ้า แต่สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการมากกว่าเกี่ยวข้องกับบุคคล ศาสนา คือ หนทางอย่างหนึ่งซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจุดมุ่งหมาย จุดประสงค์ความเชื่อของเขา

จากทรรศนะต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนต้นนั้น สามารถสรุปให้ครอบคลุมความหมายของศาสนาทั้งที่เป็นเทวนิยมและอเทวนิยมได้ว่า ศาสนา คือ คำสอนที่ศาสดานำมา เผยแผ่ สั่งสอน แจกแจง แสดงให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่ว กระทำแต่ความดี เพื่อประสบสันติสุขในชีวิต ทั้งในระดับธรรมดาสามัญและความสุขสงบนิรันดร ซึ่งมนุษย์ยึดถือปฏิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพเลื่อมใสและศรัทธา คำสอนดังกล่าวนี้ จะมีลักษณะเป็นสัจธรรมที่มีอยู่ในธรรมชาติแล้วศาสดาเป็นผู้ค้นพบ หรือจะเป็นโองการที่ศาสดารับมาจากพระเจ้าก็ได้
1.2 ลักษณะของศาสนา

จากความหมายของศาสนาที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น สรุปลักษณะของศาสนาได้ดังนี้

1. ศาสนาเป็นศูนย์รวมของความเคารพนับถือสูงสุดของมนุษย์

2. ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งทางใจ

3. ศาสดาเป็นผู้นำศาสนามาเผยแผ่ สั่งสอนแก่มวลมนุษย์

4. ศาสนามีสาระสำคัญอยู่ที่การสอนให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่วกระทำแต่ความดี

5. คำสอนในศาสนามีทั้งระดับโลกิยะและระดับโลกุตระ

6. มนุษย์ต้องปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาด้วยความเคารพเลื่อมใสและศรัทธา

7. ศาสนาต้องมีพิธีกรรมเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ และมีสัญลักษณ์อันเป็นเครื่องหมาย
1.3 องค์ประกอบของศาสนา

ศาสนาที่จะเป็นศาสนาอย่างสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ทาง วิชาการที่นักการศาสนาจัดไว้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. ศาสดา ต้องมีศาสดาเป็นผู้ก่อตั้งศาสนา และศาสดาต้องมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เช่น ศาสนายิวมีโมเสสเป็นศาสดา ศาสนาพุทธมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ศาสนาคริสต์มีพระเยซูเป็นศาสดา และศาสนาอิสลามมีนบีมุฮัมมัดเป็นศาสดา

2. ศาสนธรรม ต้องมีศาสนธรรม คือ คำสอนซึ่งเป็นหลักของศาสนา ต้องมีคัมภีร์เป็นที่รวบรวมคำสอน เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ คัมภีร์พระเวท ศาสนาพุทธ ได้แก่ พระไตรปิฎก ศาสนาอิสลาม ได้แก่ คัมภีร์อัลกุรอาน

3. ศาสนพิธี ต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยว เนื่องมาจากคำสอนของศาสนา เช่น พิธีสวมสายยัชโญปวีต หรือสายธุรำของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีอุปสมบทของศาสนาพุทธ พิธีล้างบาปของศาสนายิว และศาสนาคริสต์ และพิธีฮัจญ์ของศาสนาอิสลาม

4. ปูชนียวัตถุ หรือ ปูชนียสถานทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปและสังเวชนียสถานในศาสนาพุทธ ไม้กางเขนและวิหารเมืองเยรูซาเลมในศาสนาคริสต์ รูปของพระคุรุและเมืองอมฤตสระของศาสนาซิกข์

5. ศาสนบุคคล ต้องมีคณะบุคคลสืบทอดคำสอนของศาสนา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามหลัก คำสอนของศาสนาโดยตรง เช่น พระ นักบวช นักพรต ในศาสนาต่างๆ

6. ศาสนสถาน ต้องมีศาสนสถานเพื่อประกอบศาสนกิจและศาสนพิธีต่างๆ ศาสน-สถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ เทวสถาน หรือเทวาลัย ของศาสนาพุทธ ได้แก่ วัด อุโบสถ ศาลาการเปรียญ วิหาร ของศาสนาคริสต์ ได้แก่ โบสถ์ วิหาร ของศาสนาอิสลาม ได้แก่ สุเหร่า หรือมัสยิด เป็นต้น

7. ศาสนิกชน ต้อง มีศาสนิกชนผู้นับถือเลื่อมใสศรัทธาในศาสนานั้น ซึ่งศาสนิกชนดังกล่าว เหล่านี้ มักเรียกตามชื่อของศาสนาที่ตนนับถือ เช่น ฮินดูชน พุทธศาสนิกชน คริสตศาสนิกชน อิสลามมิกชนหรือมุสลิม เป็นต้น

8. การกวดขันเรื่องความภักดี ต้องมีการ กวดขันเรื่องความภักดีในศาสนา เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกวดขันเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักอาศรม 4 ศาสนาพุทธกวดขันเรื่อง ไตรสรณคมน์ ศาสนาคริสต์กวดขันเรื่องการไปสวดมนต์ที่โบสถ์ในวันอาทิตย์ ศาสนาอิสลามกวดขันเรื่องหลักปฏิบัติหรือหน้าที่ในศาสนา

องค์ประกอบทั้ง 8 ประการนี้ ในบางศาสนาอาจขาดข้อใดข้อหนึ่งไป แต่ก็ยังถือว่าเป็นศาสนา เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขาดองค์ประกอบข้อที่หนึ่ง คือ ศาสดาไม่ได้มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ศาสนาอิสลามขาดองค์ประกอบข้อ 5 คือ ศาสนบุคคล เพราะผู้นับถือศาสนา อิสลามไม่มีการถือเพศเป็นบรรพชิต คงมีแต่เพศฆราวาสเท่านั้น
1.4 วิวัฒนาการของศาสนา

ไม่ว่ายุคสมัยใด มนุษย์ต่างก็ต้องการให้ชีวิตมีความสุข ความปลอดภัยและมีชีวิตยืนยาว จะทำอะไรทุกอย่างก็เพื่อจุดหมายดังกล่าว อันเป็นที่มาของการนับถือศาสนา โดยมีวิวัฒนาการ ดังนี้

วิญญาณนิยม
มนุษย์สมัยปฐมบรรพ์ ยังมีประสบการณ์ชีวิตน้อย ยังไม่เจริญด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงคิดและเชื่อไปตามความรู้ของตน เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ เช่น ก้อนหินที่มีลักษณะแปลกๆ หรือมีสีสันพิเศษแตกต่างกว่าปกติ ก็จะคิดว่ามีสิ่งลี้ลับอยู่ภายใน จึงทำให้สิ่งนั้นๆ แปลกประหลาดไป สิ่งลี้ลับนี้เรียกว่า มนะ หรืออำนาจที่ไม่มีตัวตน แต่มีชีวิตจิตใจ มีพลังวิเศษ ที่จะบันดาลให้คุณหรือโทษแก่มนุษย์ได้ จึงเกิดการเคารพนับถือมนะขึ้นมา ระยะนี้เรียกว่า สมัยมนะ ต่อมาจึงเกิดหมอผี (Shaman) ซึ่งเป็นบุคคลที่จะอัญเชิญพลังวิเศษของมนะออกมาใช้ตามจุดประสงค์ต่างๆ ยุคที่หมอผีมีความสำคัญนี้เรียกว่า สมัยมายา ต่อมามนุษย์ได้พยายาม ทำความเข้าใจในเรื่องมนะให้มากขึ้น ก็เกิดความเข้าใจว่า มนะก็คือวิญญาณนั่นเอง ซึ่งวิญญาณนี้สิงสถิตอยู่ในที่ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในสิ่งแปลกประหลาดเท่านั้น อาจสิงอยู่ในตัวสัตว์ ในต้นไม้ ภูเขา และทะเล ก็ได้ จึงเกิดการนับถือสัตว์ที่ตนคิดว่าน่าจะมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ เช่น นับถือจระเข้ เต่า แมว สิงโต เป็นต้น ทั้งยังนำสัตว์หรือสิ่งที่ตนเคารพมาเป็นที่เคารพของเผ่าจนกลายเป็นสัญลักษณ์ ประจำเผ่าต่างๆ ชาวพื้นเมืองบางเผ่าของประเทศนิวซีแลนด์ ได้แกะสลักรูปคนนั่งซ้อนกันหรือที่เรียกว่า รูปเคารพติกิ การนำสัตว์หรือรูปแกะสลักมาเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่า เรียกว่า รูปเคารพประจำเผ่า (Totemism)

ธรรมชาติเทวนิยม

ต่อมามนุษย์ได้พยายามทำความเข้าใจในเรื่องวิญญาณให้ชัดเจนขึ้นไปอีก ก็ได้มีความเข้าใจ ว่าวิญญาณมีความศักดิ์สิทธิ์วิเศษเกินกว่าวิสัยของมนุษย์ จึงเรียกวิญญาณว่า เทวดา หรือเทพเจ้า ซึ่งเทพเจ้าเหล่านี้สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติทั่วไป จึงเกิดการเรียกว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระวรุณ พระอัคนี และพระคงคา ฯลฯ เช่นในศาสนากรีกโบราณและศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนับถือผู้ที่ตนเคารพ เช่น บิดา มารดา บรรพบุรุษ พระมหากษัตริย์ และวีรบุรุษ ฯลฯ ว่าเมื่อตายไปแล้วก็จะกลายเป็นเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ในที่ทั่วไป เช่น บ้านเรือน เป็นต้น ที่เรียกกันว่า เจ้าที่เจ้าทาง หรือผีบ้านผีเรือน

เทวนิยม

ในสมัยต่อมา มนุษย์บางพวกเกิดความคิดว่า เทพเจ้าต่างๆ น่าจะมีฐานะสูงต่ำลดหลั่น อย่างมนุษย์ ทั้งน่าจะมีเทพเจ้าสูงสุดเหนือกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ดุจพระราชาเป็นใหญ่กว่า ปวงประชา พระองค์ทรงมีอำนาจสูงสุด เช่น ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง ตลอดทั้งกำหนดชะตากรรม ของมนุษย์ ดูแลความเป็นไปของโลก พวกที่มีความเชื่อดังกล่าว ยังมีความคิดแตกต่างกันไปอีก บางคนมีความเห็นว่าเทพเจ้าสูงสุดมีหลายองค์ เช่น ศาสนาพราหมณ์ ก็เรียกว่า พหุเทวนิยม บางคนมีความเห็นว่า เทพเจ้าสูงสุดมี 2 องค์ คอยทัดทานอำนาจกัน ฝ่ายหนึ่งสร้างแต่สิ่งที่ดี แต่อีกฝ่ายหนึ่งสร้างแต่สิ่งไม่ดี ดังที่มีสิ่งคู่กันอยู่ในโลก เช่น ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ก็เรียกว่า ทวิเทวนิยม และบางคนมีความเห็นว่า เทพเจ้าสูงสุดหรือพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวเท่านั้น เช่น พระเจ้าในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ก็เรียกว่า เอกเทวนิยม

อเทวนิยม

กาลต่อมามนุษย์บางคนมีความเห็นว่า พระเจ้าสูงสุดดังที่เชื่อกันนั้นไม่มี เป็นเพียงมนุษย์คิดกันขึ้นมาเอง เห็นได้จากการที่คุณลักษณะต่างๆ ของเทพเจ้า ได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และเพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์เป็นต้นเหตุ แล้วก็หลงเคารพนับถือในสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมา ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกันขึ้นมา ดำรงอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง สำหรับมนุษย์แล้ว กรรมหรือการกระทำของมนุษย์ต่างหากที่สำคัญที่สุด สามารถดลบันดาลชีวิตให้เป็นไปอย่างไรก็ได้ ความเชื่ออย่างนี้เรียกว่า อเทวนิยม
1.5 มูลเหตุการเกิดของศาสนา

มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนานั้นมีมากมายหลายอย่าง แล้วแต่สภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่มชนและยุคสมัย ซึ่งนักการศาสนาได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนา ดังนี้

1. เกิดจากอวิชชา อวิชชาในที่นี้ หมายถึง ความไม่รู้หรือความเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง เช่น ไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัวว่า เหตุใดจึงเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือฝนตก เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงหาคำตอบออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น เข้าใจว่า ฟ้าแลบเนื่องจาก นางมณีเมขลาเอาแก้วมาล่อรามสูร และฟ้าผ่าเพราะรามสูรขว้างขวานไปถูกแก้วแตก เป็นต้น และเมื่อไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงพากันคิดว่าจะต้องมีสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งอาจเป็นเทพยดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ จึงมีการบูชาบวงสรวงอ้อนวอนให้เมตตาปรานี ความคิดเช่นนี้จึงเป็นมูลเหตุทำให้เกิดศาสนาขึ้น ซึ่งศาสนาของคนโบราณจึงมีมูลเหตุมาจากอวิชชา หรือความไม่รู้

2. เกิดจากความกลัว ความกลัวเป็นมูลเหตุ ที่ต่อเนื่องจากอวิชชา กล่าวคือ เมื่อเกิดความไม่รู้หรือไม่เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ความกลัว กลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงคิดหาทางเอาอกเอาใจในสิ่งนั้น ในรูปของการเคารพกราบไหว้ เซ่นสรวงบูชา ตลอดจนบนบานศาลกล่าว เพื่อไม่ให้บันดาลภัยพิบัติแก่ตน แต่ให้บันดาลความสุขสวัสดีมาให้ เป็นต้น

3. เกิดจากความภักดี ความภักดีในทางศาสนา หมายถึง ความเชื่อและความเลื่อมใส ด้วยมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเชื่อและเลื่อมใสนั้น เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ตนได้ ศาสนาที่มีมูลเหตุเกิดจากความภักดีได้แก่ศาสนาประเภทเทวนิยม เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น

4. เกิดจากความต้องการความรู้แจ้งความจริงของชีวิต ความต้องการความรู้แจ้งเป็นมูลเหตุให้เกิดศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่เน้นความรู้ประจักษ์แจ้งความจริงเป็นสำคัญ

5. เกิดจากความต้องการความสงบสุขของสังคม
กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และกติกา ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้ จำเป็นต้องมีคำสอนของศาสนาช่วยขัดเกลาอบรมจิตใจของคนในสังคมให้มีความละอาย ต่อการทำชั่ว กลัวต่อการทำผิด เมื่อใช้กฎหมายควบคู่กับคำสอนทางศาสนาแล้วย่อมทำให้สังคมมีความสงบสุข ยิ่งขึ้น
1.6 ประเภทของศาสนา

เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อถือ จึงทำให้เกิดศาสนาหลายรูปแบบขึ้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา จำเป็นจะต้องมีการแบ่งศาสนาออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะและสภาพการณ์จริงในปัจจุบันของศาสนาเหล่านั้น ดังนี้

1.6.1 แบ่งตามลักษณะของศาสนา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1. เอกเทวนิยม (Monotheism) เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นต้น

2. พหุเทวนิยม (Polytheism) เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ เช่น ศาสนาฮินดู และศาสนากรีกโบราณ เป็นต้น

3. สัพพัตถนิยม (Pantheism) เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ในทุกคน ทุกแห่ง เช่น ศาสนาฮินดู (บางลัทธิ) ถือว่าพระพรหมสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง

4. อเทวนิยม (Atheism) ไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน

ทั้ง 4 ประเภทนี้ อาจย่อลงเป็น 2 คือ

- เทวนิยม (Theism) เป็นศาสนาที่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก ได้แก่ ศาสนา

-พราหมณ์-ฮินดู ศาสนายิว (ยูดาย) ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ

- อเทวนิยม (Atheism) เป็นศาสนาที่ปฏิเสธเรื่องพระเจ้าสร้างโลก ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน

1.6.2 แบ่งตามสภาพการณ์จริงในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ศาสนาที่ตายแล้ว (Dead Religions) หมายถึง ศาสนาที่เคยมีผู้นับถือในอดีตกาล แต่ปัจจุบันไม่มีผู้นับถือแล้ว คงเหลือแต่ชื่อในประวัติศาสตร์เท่านั้น มี 12 ศาสนา ได้แก่

1.1 ในทวีปแอฟริกา 1 ศาสนา คือ ศาสนาของอียิปต์โบราณ

1.2 ในทวีปอเมริกา มี 2 ศาสนา คือ

(1) ศาสนาของเปรูโบราณ

(2) ศาสนาของเม็กซิกันโบราณ

1.3 ในทวีปเอเชีย มี 5 ศาสนา คือ

(1) ศาสนามิถรา (Mithraism) ได้แก่ ศาสนาที่นับถือพระอาทิตย์ ของพวกเปอร์เซีย

(2) ศาสนามนีกี (Manichaeism) มีผู้นับถือระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3-5 ชื่อศาสนาตั้งขึ้นตามชื่อผู้ตั้งศาสนานี้ เรียกทั่วไปว่า มนี ศาสนานี้ถือว่าพระเจ้ากับซาตาน หรือพญามาร เป็นของคู่กันชั่วนิรันดร

(3) ศาสนาของชนเผ่าบาบิโลเซีย

(4) ศาสนาของชนเผ่าฟีนิเซีย

(5) ศาสนาของพวกฮิตไตต์ (Hittites) ชนพวกนี้เป็นชนชาติโบราณที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเอเชียไมเนอร์

1.4 ในทวีปยุโรป มี 4 ศาสนา คือ

(1) ศาสนาของพวกกรีกโบราณ

(2) ศาสนาของพวกโรมันโบราณ

(3) ศาสนาของพวกติวตันยุคแรก

(4) ศาสนาของพวกที่อยู่ ณ แหลมสแกนดิเนเวีย (สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก)

2. ศาสนาที่ยังมีชีวิตอยู่ (Living Religion) หมายถึง ศาสนาที่ยังมีผู้นับถืออยู่ ในปัจจุบันมี 12 ศาสนา ดังนี้

2.1 ศาสนาที่เกิดในเอเชียตะวันออก

1.1 ศาสนาเต๋า

1.2 ศาสนาขงจื๊อ

1.3 ศาสนาชินโต

2.2 ศาสนาที่เกิดในเอเชียใต้

2.1 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

2.2 ศาสนาเชน

2.3 ศาสนาพุทธ

2.4 ศาสนาซิกข์

2.3 ศาสนาที่เกิดในเอเชียตะวันตก

3.1 ศาสนาโซโรอัสเตอร์

3.2 ศาสนายูดาย หรือยิว

3.3 ศาสนาคริสต์

3.4 ศาสนาอิสลาม

3.5 ศาสนาบาไฮ

1.6.3 แบ่งตามลำดับแห่งวิวัฒนาการของศาสนา แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ

1. ศาสนาธรรมชาติ (Natural Religion) คือศาสนาที่นับถือธรรมชาติ มีความรู้สึกว่าในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ ฯลฯ มีวิญญาณสิงอยู่ จึงแสดงความเคารพนับถือโดยการเซ่นสรวง สังเวย เป็นต้น การที่มนุษย์เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติแล้วใช้ความรู้สึกสามัญของมนุษย์ตัดสิน กระทั่งทำให้เกิดความเชื่อว่าทุกอย่างต้องมีผู้สร้าง ธรรมชาตินั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่เหนือธรรมชาติคอยควบคุมอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงออกของศาสนาดั้งเดิม และเป็นขั้นแรกที่มนุษย์แสดงออกเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

2. ศาสนาองค์กร(Organized Religion) ศาสนาประเภทนี้มีวิวัฒนาการมาโดย ลำดับ เป็นศาสนาที่มีการจัดรูปแบบ มีการควบคุมเป็นระบบ จนถึงกับก่อตั้งในรูปสถาบันขึ้น อาจเรียกว่า ศาสนาทางสังคม (Associative Religion) ซึ่งมีการจัดระบบความเชื่อตอบสนองสังคม โดยคำนึงถึงความเหมาะสมแก่สภาวะของแต่ละสังคมเป็นหลัก และก่อรูปเป็นสถาบันทางศาสนาขึ้น เป็นเหตุให้ศาสนาประเภทนี้มีระบบและรูปแบบของตัวเอง มีความมั่นคงถาวรในสังคมสืบมา เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ เป็นต้น

1.6.4 แบ่งตามประเภทของผู้นับถือศาสนา แบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ

1. ศาสนาเผ่า (Tribal Religion) คือ ศาสนาของคนในเผ่าใดเผ่าหนึ่ง เป็นความเชื่อของกลุ่มชนในเผ่า เช่น ศาสนาของคนโบราณเผ่าต่างๆ ซึ่งได้พัฒนาการขึ้นเป็นศาสนาชาติ เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ศาสนายูดาย ศาสนาชินโต และศาสนาขงจื๊อ ศาสนาฮินดูนับถือกันเฉพาะในประเทศอินเดีย ศาสนาโซโรอัสเตอร์นับถือเฉพาะในหมู่ชนเผ่าเปอร์เซีย ศาสนายูดายหรือศาสนายิวนับถือกันเฉพาะในหมู่ชาวอิสราเอล ศาสนาชินโตนับถือเฉพาะในหมู่ ชาวญี่ปุ่น และศาสนาขงจื๊อก็นับถือเฉพาะในหมู่ชาวจีน

2. ศาสนาโลก (World Religion) คือ ศาสนาที่มีผู้นับถือกระจายอยู่ทั่วโลก ไม่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่ใดที่หนึ่ง เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าศาสนาสากล

3. ศาสนานิกาย (Segmental Religion) คือ ศาสนาที่เกิดจากศาสนาใหญ่ หรือนิกายย่อยของศาสนาสากล ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุความกดดันทางสังคม เช่น การเหยียดสีผิวสิทธิทางกฎหมาย ความไม่เท่าเทียมกัน ฯลฯ กลุ่มบุคคลที่เสียเปรียบทางสังคมจึงหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้และธำรงไว้ซึ่ง วัฒนธรรมของตน จึงฟื้นฟูลัทธิศาสนาและระบบทางสังคมให้เป็นของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยรวบรวมผู้คนที่เห็นด้วยทำการเผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรมของตนในต่างแดน เช่น กลุ่มชาวพุทธในอินโดนีเซีย กลุ่มมุสลิมดำในอเมริกา กลุ่มโซโรอัสเตอร์ในอินเดีย กลุ่มฮินดูในแอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยอาศัยศาสนาเป็นพลังชี้นำ
1.7 ความสำคัญของศาสนา

ศาสนานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าศาสนาใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่มีลักษณะร่วมสำคัญ คือ สอนคนให้เป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ อยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข อีกทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และมีหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและปลอดภัย ดังนั้นศาสนาจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ไม่ว่ามนุษย์จะเจริญหรือล้าหลังก็ตาม ก็ย่อมมีศาสนาประจำบ้านเมือง ประจำหมู่คณะ หรืออย่างน้อยก็ประจำตระกูลหรือครอบครัว ความสำคัญของศาสนานอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีอีกนานัปการ เช่น

1. ศาสนาเป็นเครื่องสั่งสอนให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ

2. ศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมจรรยาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชอบ อันเป็นเครื่องประกอบให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี มีเอกลักษณ์ อารยธรรม และวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นของตนเอง

3. ศาสนาเป็นเครื่องบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่มนุษย์ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

4. ศาสนาเปรียบเสมือนดวงประทีปโคมไฟที่ให้ความสว่างไสวแก่เส้นทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในโลก

5. ศาสนาช่วยทำให้ชีวิตครอบครัวอบอุ่น เป็นแหล่งผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าให้แก่สังคม

6. ศาสนาเป็นพลังใจให้มนุษย์สามารถเผชิญชีวิตด้วยความกล้าหาญ ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ทำให้มีความสงบสุขและผาสุกในชีวิต

7. ศาสนาช่วยยกระดับจิตใจ ทำให้เป็นผู้ควรแก่การเคารพนับถือ อีกทั้งยังช่วยสร้างจิตสำนึกในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้กับคนในสังคมอีก ด้วย

8. ศาสนาช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อกัน ช่วยขจัดช่องว่างทางสังคม สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น เป็นรากฐานแห่งความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชน และสร้างความสงบสุขความมั่นคงให้แก่ชุมชน

9. ศาสนาช่วยให้มนุษย์ได้ประสบความสุขสงบและสันติสุขขั้นสูง จนกระทั่งบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ หมดทุกข์โดยสิ้นเชิงได้

10. ศาสนาเป็นมรดกล้ำค่าแห่งมนุษยชาติ เป็นความหวังและวิถีทางสุดท้ายแห่งความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ
1.8 คุณค่าทางศาสนา

ศาสนามีคุณค่านานัปการ คุณค่าของศาสนาที่มีต่อมนุษย์เป็นคุณค่าทางจิตใจ อันถือว่าสูงกว่าคุณค่าทางวัตถุ คุณค่าของศาสนาที่พอประมวลได้ เช่น

1. เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ คือ เป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้ไม่รู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่จนเกินไป

2. เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีของหมู่คณะ รวมถึงความสามัคคีในหมู่มวลมนุษยชาติ

3. เป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาทั้งในด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา และศีลธรรมจรรยา

4. เป็นบ่อเกิดแห่งจริยธรรม ศีลธรรม และคุณธรรม

5. เป็นบ่อเกิดแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทั้งหลาย

6. เป็นเครื่องดับความเร่าร้อนทางใจ ทำให้ใจสงบเย็น

7. เป็นดวงประทีปส่องโลกที่มืดมิด

8. เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่มีศาสนา
1.9 ประโยชน์ของศาสนา

เมื่อมนุษย์ได้นำหลักศาสนาไปประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนอย่างสม่ำเสมอ แล้ว ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ต่อตนเองอย่างแน่นอน ประโยชน์ของศาสนาโดยภาพรวมมีดังนี้

1. ศาสนา ช่วยทำให้คนมีจิตใจสูงและประเสริฐกว่าสัตว์

2. ศาสนาช่วยทำให้คนมีวินัยในตัวเองสูง

3. ศาสนาช่วยทำให้คนในสังคมอยู่กันได้อย่างสงบสุข

4. ศาสนาช่วยส่งเสริมและสร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าทางด้านศิลปะ และวัฒนธรรมแก่สังคม

5. ศาสนาช่วยให้คนมีความอดทน ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่ดีใจจนเกินเหตุเมื่อประสบกับอารมณ์ดี และไม่เสียใจจนเสียคนเมื่อเผชิญกับเหตุร้าย

6. ศาสนาช่วยประสานรอยร้าวในสังคมมนุษย์ ทำให้สังคมมีเอกภาพในการทำ การพูด และการคิด

7. ศาสนาทำให้มนุษย์ปกครองตนเองได้ในทุกสถานและทุกเวลา

8. ศาสนาสอนให้มนุษย์มีจิตใจสะอาด ไม่กล้าทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

9. ศาสนาทำให้มนุษย์ผู้ประพฤติตาม พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน และช่วยให้ประสบความสงบสุขทางจิตใจอย่างเป็นลำดับขั้นตอนจนบรรลุเป้าประสงค์ สูงสุดของชีวิต

10. ศาสนาช่วยให้มนุษย์มีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ได้อย่างมีความสุข

11. ศาสนาช่วยให้มีหลักในการดำเนินชีวิต ให้ชีวิตมีความหมายและความหวัง และช่วยให้เกิดเสถียรภาพและความสงบสุขในสังคม

free programes

Read more!

0 comments:

INDIAN SONG

THAI SONG

Template by : kendhin news blog